วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระพิมพ์ไม่ใช่พระเครื่อง

หนุ่ย บางพลี 
      
ผมอ่านบทความนี้เจอในคมชัดลึกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 เลยนำมาฝากให้อ่านกันครับ

รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมกับคำนิยาม...'พระพิมพ์ไม่ใช่พระเครื่อง
บทความ สรณะคนดัง เรื่องและภาพ โดยสุพิชฌาย์ ศูนย์ข่าวภาคใต้ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 1ตุลาคม 2554


          การศึกษาประวัติศาสตร์ เรื่องราวทางโบราณคดีช่วยให้ได้รับรู้ที่มาที่ไปของสรรพสิ่งตั้งแต่ยุคอดีตจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่การค้นคว้าให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกซ่อนเร้นด้วยกาลเวลาย่อมมิใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งกุญแจในการไขปริศนาสิ่งที่มนุษย์ใคร่รู้ เช่นเดียวกับ "รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม" นักวิชาการ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา เป็นผู้ทำงานศึกษาค้นคว้าและเรียบเรียงงานวิชาการ
          ด้วยประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี ทำให้ รศ.ศรีศักดิ์ มีมุมมองในการแขวนพระแตกต่างไปจากคนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง โดยแยกวัตถุมงคล หรือที่คนในวงการพระเรียกว่า พระเครื่องออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ พระพิมพ์กับ พระเครื่อง

          พระพิมพ์ในความหมายของนักโบราณคดีชื่อดังคือ วัตถุหรือสัญลักษณ์ที่เป็นดั่งตัวแทนพระพุทธองค์ ที่สร้างขึ้นเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงและคงอยู่ในอาณาบริเวณแห่งนั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เรื่องของพระพุทธศาสนาล้วนๆ เช่น พระรอด พระคง พระเปิม พระบาง เป็นต้น
          ส่วน พระเครื่องเป็นวัตถุที่ว่าด้วยเรื่องของไสยศาสตร์ โดยเอาอำนาจเหนือธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ยังเกื้อกูลต่อกันและกันอย่างแยกไม่ออก สำหรับสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกลงไปในแก่นของเรื่อง พระเครื่องจะพบว่ามีทั้งไสยศาสตร์สายขาวเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในกระบวนการร่วมจรรโลงศาสนา เช่น การประกอบพิธีกรรมต่างๆ อันเป็นสิริมงคล
             ส่วน ไสยศาสตร์สายดำคือเครื่องมือที่มุ่งเน้นแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนมากกว่าสร้างผลดีต่อส่วนรวม  หรือที่เรียกว่า อวิชชานั่นเอง
             ทั้งนี้ ต้องยอมรับการสร้างพระเครื่องนั้น จากเดิมทางวัดหรือชาวบ้านร่วมกันสร้าง เพื่อหาปัจจัยมาใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด หรือสร้างศาสนสถาน แต่ในทุกวันนี้ได้ถูกอิทธิพลของพุทธพาณิชย์เข้ามามีบทบาท จนแทบไม่เหลือคราบของการทำบุญ และนับวันจะกลายเป็นการซื้อบุญเสียมากกว่า
             ด้วยเหตุนี้ รศ.ศรีศักดิ์ จึงพิสมัยใน "พระพิมพ์" โดยอาราธนาแขวนพระพิมพ์เนื้อดินเผาสมัยศรีวิชัย ขึ้นคล้องคอ ด้วยเหตุผลที่ชอบและหลงใหลในความงามทางศิลปะสมัยศรีวิชัย รวมทั้งยังเกิดความรู้สึกสบายใจทุกครั้งที่มีพระองค์นี้ติดตัว
             สำหรับ พระพิมพ์เนื้อดินเผาสมัยศรีวิชัย นั้น ในระยะแรกที่มีการแตกกรุออกมาจะมีพระพิมพ์หลากหลายรูปแบบ ที่พบมากคือ ลักษณะทรงกลมคล้ายเม็ดกระดุม จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า พระเม็ดกระดุมเรื่อยมากระทั่งมีนักวิชาการได้ตรวจสอบอย่างละเอียดจึงพบว่าเป็น พระพิมพ์ที่สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เรืองอำนาจ จึงเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระเม็ดกระดุมศรีวิชัย
             แต่กระนั้น การเรียกชื่อพระพิมพ์เหล่านี้ก็ยังไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากยังมีการเรียกชื่ออื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น  “พระงบน้ำอ้อยศรีวิชัยและพระธรรมจักรศรีวิชัยส่วนเหตุที่เรียกเช่นนั้นก็ล้วนแต่เป็นไปตามลักษณะของพระพิมพ์ที่พบ
          ทุกอย่างมันผสานกันจนเกือบเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่ช่วยตัวเองไม่ได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม โดยเฉพาะยามที่มีปัญหาด้านจิตใจ ต้องแสวงหาที่พึ่ง หนึ่งในนั้นคือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งพระพิมพ์และพระเครื่อง จึงเป็นหนึ่งในหนทางที่มนุษย์เชื่อว่า เยียวยาทุกข์ทางใจได้ แต่ชีวิตของมนุษย์ทุกคนจะพึ่งพิงและหวังให้อยู่รอดได้ด้วยเพียงวัตถุมงคลอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับกฎแห่งกรรมของแต่ละคน หรือที่พูดกันตามภาษาชาวบ้านจนติดปากว่า ขึ้นอยู่กับเวรกรรมนั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่พอจะเสริมสร้างให้ชีวิตได้ประสบกับปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ในสิ่งที่เรายึดและศรัทธาได้นั้นต้องรู้จักก่อกรรมดี ตั้งตนอยู่ในศีลและธรรมบ้างรศ.ศรีศักดิ์ กล่าว
             พร้อมกันนี้ รศ.ศรีศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า "แขวนพระเพราะต้องการที่พึ่งทางใจ แขวนพระเราต้องรู้ ต้องศึกษาว่าแขวนแล้วชีวิตได้อะไร อย่าปล่อยให้วัตถุมงคลกลายเป็นเพียงแค่วัตถุนิยม เพราะนั่นไม่ใช่หนทางจรรโลงพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ดังนั้น แขวนพระองค์ไหนแล้วรู้สึกสบายใจจนสามารถช่วยให้ทำงาน หรือก้าวผ่านวิกฤติในชีวิตไปได้ ผมจะแขวนองค์นั้น โดยที่ผ่านมาเห็นจะมีแต่พระพิมพ์ดินเผาสมัยศรีวิชัยเท่านั้น ที่ถูกโฉลก เพราะแขวนแล้วหายเครียด และปลดเปลื้องจากความทุกข์ใจได้เสมอรศ.ศรีศักดิ์ กล่าว
             นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของนักโบราณคดีชื่อดังคือ ทุกวันก่อนนอนและตื่อนเช้าจะต้อง สวดมนต์ โดยเฉพาะบทพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุง) เพราะเป็นสิริมงคลกับชีวิต และที่ผ่านมา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ไม่เคยห่างจากคาถาบทนี้

ฟูกูโอกะ"...รางวัลแห่งความภูมิใจ

             งานวิจัยของรศ.ศรีศักดิ์ ครอบคลุมหลายแขนง โดยเฉพาะงานสำรวจทางโบราณคดีในประเทศไทย ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และงานวิจัยเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณของไทย จนเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยแล้ว ผลงานยังกระฉ่อนไปถึงต่างแดน จนได้รับรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเป็นรางวัลที่นครฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น มอบให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม  โดยเฉพาะผลงานที่จรรโลงและสร้างสรรค์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย ก่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมเอเชีย และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาค
             รศ.ศรีศักดิ์ เป็นชาวไทยอีกคนที่ได้รับรางวัลฟูกูโอกะ ที่เริ่มประกาศเกียรติคุณให้ผู้อุทิศตนในการทำหน้าที่ในด้านต่างๆ มาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๓ โดยคนไทยที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับรางวัลก่อตั้งพิเศษ ใน พ.ศ.๒๕๓๓  (ครั้งที่๑) ในสาขานักประพันธ์ และนักการเมือง จากนั้น ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้รับรางวัลสูงสุดใน พ.ศ.๒๕๓๗ (ครั้งที่ ๕) สาขานักโบราณคดี และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ตามมาด้วย ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้รับรางวัลผลงานวิชาการใน พ.ศ.๒๕๔๒  (ครั้งที่ ๑๐) สาขานักประวัติศาสตร์ และคุณถวัลย์ ดัชนี ได้รับรางวัลศิลปะและวัฒนธรรมใน พ.ศ.๒๕๔๔ (ครั้งที่๑๒ ) สาขาจิตรกร
             นอกจากนี้แล้ว รศ.ศรีศักดิ์ ยังมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา ไว้อย่างมากมาย และเป็นบรรณาธิการนิตยสาร "เมืองโบราณ" เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานสนับสนุนการวิจัย เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษามูลนิธิ เล็ก ประไพ วิริยะพันธุ์


ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20111001/110620/